ความเป็นมา
จากการที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีนโยบายในการส่งเสริมให้คณาจารย์และนักวิจัยมุ่งสู่ความเป็นเลิศด้านการวิจัย มีการกำหนดพันธกิจหลักด้านวิจัย และแนวทางยุทธศาสตร์ด้านการวิจัยอย่างชัดเจน ประกอบกับการวิจัยในปัจจุบัน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรับรองด้านจริยธรรมการวิจัยในคนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากให้เป็นไปตามเงื่อนไขของแหล่งทุน การตีพิมพ์ผลงาน และเป็นการปกป้องสิทธิของผู้เข้าร่วมโครงการวิจัย
คณะสังคมศาสตร์จึงได้ขออนุมัติจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการเป็นผู้ประสานงานหลัก และเป็นคณะทำงานในโครงการจัดตั้งคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขึ้น เพื่อยกระดับมาตรฐานด้านจริยธรรมการวิจัยในคนให้ทัดเทียมกับมหาวิทยาลัยอื่น และยกระดับมาตรฐาน การวิจัยโดยมีขอบเขตพิจารณางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มสาขาวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และกลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มีระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 จนถึงเดือนธันวาคม 2560 โดยคณะทำงานได้มีการศึกษาดูงานจากคณะและสถาบันต่างๆ ที่มีคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน ตลอดจนเข้าร่วมการอบรมเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านจริยธรรมการวิจัยในคน เมื่อศึกษาดูงานแล้วเสร็จ จึงได้เสนอแนวทางการดำเนินงานและร่างโครงสร้างของคณะกรรมการฯ ให้แก่มหาวิทยาลัย
เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2559 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Chiang Mai University Research Ethics Committee: CMUREC) เพื่อยกระดับมาตรฐานการดำเนินการด้านจริยธรรมในคนของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้ทัดเทียมกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งสี่ปี และมีอำนาจและหน้าที่ ดังนี้
- พิจารณาให้ข้อเสนอแนะ ปรับปรุงแก้ไข และรับรองโครงร่างการวิจัยตามศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง
- คุ้มครองบุคคลที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยทั้งหมด แม้เกี่ยวข้องกับงานวิจัยดังกล่าวเพียงบางส่วน โดยไม่คำนึงถึงผู้ให้การสนับสนุน
- กำหนดให้ส่งรายงานความก้าวหน้า และตรวจสอบการศึกษาวิจัยที่ผ่านจริยธรรมการวิจัย
- พิจารณาทบทวนการเบี่ยงเบนจากโครงร่างการวิจัยโดยคาดไม่ถึง
- พิจารณาตรวจเยี่ยมติดตามโครงการวิจัยที่ได้รับการรับรองให้ผ่านจริยธรรมการวิจัยแล้ว
เป็นระยะๆ - ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่มหาวิทยาลัยมอบหมาย
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้อนุมัติให้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ณ ชั้น 4 อาคารปฏิบัติการ คณะสังคมศาสตร์ เพื่อให้เป็นศูนย์ประสานงานระหว่างคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบุคลากรจากส่วนงานต่างๆ ในสังกัด รวมถึงนักวิชาการจากภายนอก หรือบุคคลทั่วไปที่ต้องการยื่นเสนอขอรับการพิจารณาด้านจริยธรรม ตลอดจนใช้เป็นสถานที่สำหรับประชุมของคณะกรรมการฯ และเก็บข้อมูลเอกสารตามระบบมาตรฐานจริยธรรมการวิจัย
สำนักงานคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ดำเนินการในการเปิดรับพิจารณาโครงร่างการวิจัยตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 เป็นการดำเนินงานอย่างเต็มรูปแบบตามกรอบแนวทาง การดำเนินงาน/ ระเบียบ/ ประกาศที่กำหนดไว้ โดยได้จัดพิธีเปิดสำนักงานคณะกรรมการฯ อย่างเป็นทางการ และประชุมเพื่อพิจารณาโครงร่างการวิจัยครั้งแรกในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2560 มีการประชุมเป็นประจำทุกเดือน โดยมีผู้สนใจติดต่อส่งโครงร่างการวิจัย เพื่อเข้ารับการพิจารณาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
พันธกิจ
คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะเป็นผู้รับผิดชอบดูแลการพิจารณาโครงร่างการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับคนในกลุ่มสาขาวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และกลุ่มสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักจริยธรรมสากล ตัดสินใจโดยอิสระ ปราศจากอคติ อันเนื่องมาจากระบบบริหาร นักวิจัย หรือผู้อุปถัมภ์ และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านจริยธรรมการวิจัยในคน เพื่อให้บุคลากร นักศึกษา นักวิชาการ และบุคคลทั่วไป เห็นความสำคัญของจริยธรรมการวิจัยในคน โดยมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินการตามพันธกิจ ดังนี้
- เพื่อปกป้องสิทธิและสวัสดิภาพของผู้เข้าร่วมโครงการวิจัยจากภยันตราย
อันเนื่องมาจากการวิจัย - เพื่อมั่นใจว่าการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับคน มีคุณค่าเชิงวิชาการและถูกต้อง
ตามหลักจริยธรรมสากล - เพื่อมั่นใจว่าการวิจัยที่กำลังดำเนินอยู่ยังคงมีความเหมาะสมทางจริยธรรม
คณะกรรมการฯ จะพิจารณาให้ความเห็นชอบเชิงจริยธรรมต่อโครงการวิจัย โดยอาศัยหลักจริยธรรมพื้นฐานตาม The Belmont Report ได้แก่
- การเคารพในสิทธิและศักดิ์ศรีของผู้เข้าร่วมโครงการวิจัย (respect for persons)
- ประโยชน์ (beneficence)
- ความเป็นธรรม (justice)